สมาคมจีเอสเอ็มระบุการปล่อยให้ข้อมูลส่งข้ามพรมแดนอย่างอิสระ
เป็นสิ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจเชิงดิจิทัลในเอเชีย
การกำหนดกรอบเดียวกันด้านการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลทั่วภูมิภาคจะช่วยสร้างโอกาส การขยายตัวของการค้าโลกและเพิ่มการเติบโตของจีดีพี
GSMA Executives
กรุงเทพฯ ( 5 กันยายน 2561) – รายงานล่าสุดของสมาคมจีเอสเอ็ม หรือ GSMA ที่เปิดเผยในงานประชุม Mobile 360 – Digital Societies ที่มีขึ้นวันนี้ ชี้รัฐบาลในกลุ่มประเทศเอเชียสามารถขยายเศรษฐกิจเชิงดิจิทัลของภูมิภาค และสร้างประโยชน์ทางสังคมเศรษฐกิจให้กับประชากรได้เพิ่มขึ้น โดยยกเลิกข้อกำหนดที่ไม่จำเป็นที่ควบคุมการไหลของข้อมูลระหว่างประเทศ ทั้งนี้ รายงาน ‘Regional Privacy Frameworks and Cross-Border Data Flows’ ชิ้นสำคัญนี้ยังเผยอีกด้วยว่า การทำให้กฎเกณฑ์ข้อบังคับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคมีความสมดุลกันสามารถส่งผลเชิงบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สร้างความก้าวหน้าทางนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี 5G Internet of Things (IoT) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI)
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดนมีส่วนช่วยให้ GDP โลกเติบโตขึ้นถึงราว 10.1 เปอร์เซ็นต์1 และคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ2 (ประมาณ 91.62 ล้านล้านบาท) ของ GDP โลก ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าตัวเลขของการค้าผลิตภัณฑ์ทั่วโลก ความสามารถในการโอน จัดเก็บ และประมวลผลข้อมูล เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการทำการค้า ส่งเสริมนวัตกรรม และผลักดันให้เกิดพัฒนาการด้านเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน แพลตฟอร์ม และบริการใหม่ๆ
แม้ว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีพัฒนาการที่ดีในเรื่องการกำหนดกรอบคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถปกป้องผู้บริโภคได้ดี ในขณะที่ยังพอให้มีการส่งผ่านข้อมูลข้ามพรมแดนอยู่บ้าง แต่รายงานชิ้นนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ความแตกต่างของกฏหมายข้อมูลส่วนบุคคลในแต่ละประเทศเป็นเครื่องกีดขวางการขยายตัวทางการค้าและการสรรค์สร้างนวัตกรรม นอกจากนี้ ในรายงานฯ ยังชี้แนะให้สร้างการเชื่อมโยงระหว่างสองกรอบความร่วมมือหลักด้านข้อมูลส่วนบุคคลในภูมิภาคเอเชีย คือ ASEAN Framework on Personal Data Protection และ APEC Privacy Framework เพื่อช่วยให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดน
“การไหลเวียนของข้อมูลและเศรษฐกิจเชิงดิจิทัลสามารถก่อให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลอย่างที่ไม่มีใครสามารถโต้แย้งได้” นายบอริส วอยแทน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายข้อมูลส่วนบุคคล การดูแลส่วนงานภาครัฐและกฎระเบียบสมาคมจีเอสเอ็ม กล่าวว่า “ความร่วมมือด้านมาตรการข้อมูลส่วนบุคคลที่ครอบคลุมทั่วทั้งเอเชียเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศต่างๆ หลุดพ้นจากอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลไม่จำกัดอยู่แค่ในเอเชียเท่านั้น แต่ส่งผลทั่วโลก การใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่กำหนดขึ้นเองจากแต่ละประเทศเพื่อควบคุมและบังคับการใช้ข้อมูลของประชากรในประเทศนั้นๆ จะตีกรอบจำกัดขีดความสามารถขององค์กรต่างๆ ในเอเชียในการนำเสนอสินค้าและบริการสู่ผู้บริโภคในอนาคต ถึงเวลาแล้ว ที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันหามาตรการในการปิดช่องว่างความแตกต่างระหว่างกฎข้อบังคับด้านข้อมูลส่วนบุคคลของแต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น”
งานวิจัยชิ้นนี้ประเมินกรอบและหลักการสำคัญด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในระดับภูมิภาคที่หลากหลาย
รวมทั้งการวิเคราะห์เจาะลึกในระดับประเทศ เพื่อระบุหาแนวทางของประเทศนั้นๆ ว่ามีข้อกำหนดในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไรบ้าง รายงานนี้ยังได้แนะนำมาตรการสำคัญที่ทุกประเทศ รวมทั้งประเทศที่กำลังพัฒนา ควรสนับสนุนและร่วมมือในการนำมาปฏิบัติใช้ เพื่อให้ภูมิภาคเอเชียสามารถก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกันได้ดียิ่งขึ้น โดยข้อแนะนำที่สำคัญบางประการที่มีระบุไว้ในรายงานฉบับนี้ ได้แก่
· รัฐบาลประเทศสมาชิกเอเปคและอาเซียนควรร่วมกันพิจารณาทางเลือกที่ระบุไว้ในรายงานเพื่อปิดช่องว่างความแตกต่างด้านข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศตนเอง และเชื่อมโยงกับกรอบข้อกำหนดในระดับภูมิภาคมากขึ้น
· ประเทศต่างๆ ควรพัฒนากฎข้อบังคับด้านข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยทำการวิเคราะห์ภูมิทัศน์ด้านข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศตนว่าเป็นเช่นไร และศึกษาประสบการณ์ของรัฐบาลในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อทำความเข้าใจ และกำหนดทิศทางในอนาคตร่วมกัน
· ผู้กำหนดนโยบายในภาครัฐและผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลควรร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด และมีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันในระดับภูมิภาค
· รัฐบาลควรชี้แจงแก่ผู้เชี่ยวชาญด้านการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลทั้งจากภาคเอกชนและภาควิชาการด้านข้อมูลส่วนบุคคลถึงแนวทางการปฏิบัติต่างๆ
นอกจากนั้น ในวันเดียวกันนี้ GSMA ได้ตีพิมพ์รายงานอีกหนึ่งฉบับ ในหัวข้อ ‘Cross-Border Data Flows: Realising Benefits and Removing Barriers’ ที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่บุคคล ธุรกิจและรัฐบาลจะได้รับจากการไหลเวียนของข้อมูลทั่วโลก รวมทั้งผลเสียที่เกิดจากการเพิ่มมาตรการกำหนดขอบเขตข้อมูลให้อยู่เฉพาะในพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้บริษัทต่างๆ ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมดไว้ในประเทศต้นกำเนิด หรือแม้กระทั่งการห้ามไม่ให้บริษัทฯ โอนย้ายข้อมูลส่วนบุคคลมาไว้ด้วยกัน โดยรายงานฉบับนี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกยกเลิกมาตรการที่ไม่จำเป็นในการจำกัดข้อมูลให้อยู่เฉพาะในพื้นที่ และส่งเสริมให้มีการไหลเวียนของข้อมูลข้ามชาติบนแนวทางการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับการพัฒนาแล้ว
สามารถอ่านรายงาน ‘Regional Privacy Frameworks and Cross-Border Data Flows’ ฉบับภาษาอังกฤษได้ ที่นี่
สามารถอ่านรายงาน ‘Cross-Border Data Flows: Realising Benefits and Removing Barriers’ ฉบับภาษาอังกฤษได้ ที่นี่
###
สำหรับบรรณาธิการ
1. Mckinsey Global Institute, ‘Digital Globalisation: The New Era of Global Flows’ (2016)
เกี่ยวกับ GSMA
GSMA เป็นผู้แทนผลประโยชน์ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั่วโลก เป็นสมาคมศูนย์รวมของผู้ให้บริการเครือข่ายกว่า 750 ราย และกว่า 350 บริษัทในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ อาทิ ผู้ผลิตอุปกรณ์และหูฟังโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัทซอฟต์แวร์ ผู้ให้บริการอุปกรณ์และบริษัทอินเตอร์เน็ต รวมถึง องค์กรอื่นๆ ในภาคอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงด้วย นอกจากนี้ GSMA ยังเป็นผู้สร้างกิจกรรมชั้นนำในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ อาทิ การประชุม Mobile World Congress การประชุม Mobile World Congress ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ การประชุม Mobile World Congress ในอเมริกา และการประชุมในกลุ่ม Mobile 360 อีกด้วย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเยี่ยมชมเว็บไซต์บริษัท GSMA ที่ www.gsma.com และติดตาม GSMA บน Twitter ได้ที่ @GSMA