การทำการตลาดในสื่อออนไลน์โดยการโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นทาง Facebook , Google, YouTube, Instagram ฯลฯ ล้วนทำเพื่อให้สินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น โดยใช้วิธีต่าง ๆ ในการโฆษณา แต่เมื่อพ่อค้าแม่ค้ากระเป๋าหนักทุ่มทุนโปรโมตแบบจัดหนักจัดเต็ม จากที่ทำให้เกิดความสนใจ ก็กลายเป็นสร้างความรำคาญให้คนบนโลกออนไลน์แทน
ล่าสุดทาง Facebook และ Google Chrome ได้ออกมาอัปเดตมาตรการข้อห้ามเกี่ยวกับโฆษณาที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าไร้ความเป็นส่วนตัวมากเกินไป เรื่องนี้ทำให้คนค้าขายออนไลน์ทั้งหลายต่างก็ปวดหัวกันถ้วนหน้า เพราะได้รับผลกระทบโดยตรง
นโยบายเนื้อหาที่มีแบรนด์ของ Facebook
Facebook ได้ประกาศนโยบายใหม่ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป สำหรับเนื้อหาที่มีแบรนด์ (Branded Content) เฉพาะเพจและโปรไฟล์ Facebook และบัญชีผู้ใช้ Instagram เท่านั้นที่สามารถโพสต์เนื้อหาที่มีแบรนด์โดยใช้เครื่องมือเนื้อหาที่มีแบรนด์ได้
คำนิยามของเนื้อหาที่มีแบรนด์คือ “เป็นเนื้อหาของผู้สร้างหรือผู้เผยแพร่ที่มี หรือได้รับอิทธิพลจากพาร์ตเนอร์ธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นมูลค่าบางอย่าง เมื่อต้องการโพสต์เนื้อหาที่มีแบรนด์ ให้ใช้เครื่องมือเนื้อหาที่มีแบรนด์เพื่อแท็กผลิตภัณฑ์ แบรนด์ หรือพาร์ตเนอร์ธุรกิจบุคคลที่สามที่อยู่ในเนื้อหา”
เพจและโปรไฟล์ Facebook และบัญชีผู้ใช้ Instagram ที่สามารถใช้เครื่องมือเนื้อหาที่มีแบรนด์ได้จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดต่อไปนี้
- อย่าใส่โฆษณาก่อน คั่นกลาง หรือหลังเนื้อหาวิดีโอหรือเสียง
- ห้ามใส่โฆษณาแบบแบนเนอร์ไว้ในวิดีโอหรือรูปต่าง ๆ
- ห้ามใส่โฆษณาปะหน้าไว้ภายในช่วงสามวินาทีแรกของวิดีโอ โฆษณาคั่นที่ไม่ได้อยู่ในช่วงสามวินาทีแรกของวิดีโอ เช่น โฆษณาคั่นกลางหรือโฆษณาต่อท้าย จะต้องมีความยาวต่อเนื่องไม่เกินสามวินาที และต้องไม่อยู่ใน Facebook Stories และ Instagram Stories
- เพจของรายการโชว์ต้องไม่มีเนื้อหาที่มีแบรนด์เป็นโลโก้รายการหรือในวิดีโอตัวอย่าง
- อย่าใช้เครื่องมือเนื้อหาที่มีแบรนด์เพื่อแท็กเพจ แบรนด์ หรือพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจโดยไม่ได้รับความยินยอมล่วงหน้า
- อย่ายอมรับสิ่งที่มีค่าใด ๆ เพื่อโพสต์เนื้อหาที่คุณไม่ได้สร้างหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้าง หรือไม่ได้มีคุณอยู่ด้วย
- คุณต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่บังคับใช้ รวมทั้งตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณได้เปิดเผยสิ่งที่จำเป็นทั้งหมดต่อผู้ใช้งาน Facebook หรือ Instagram เช่น การเปิดเผยที่จำเป็นต่อการระบุลักษณะเชิงพาณิชย์ของเนื้อหาที่คุณโพสต์
คลิกดูภาพขนาดใหญ่
Google Chrome เริ่มแล้ว บล็อกโฆษณาน่ารำคาญ
ก่อนหน้านั้นไม่นาน ทาง Google เคยประกาศนโยบายการป้องกันโฆษณาที่น่ารำคาญ ที่รบกวนการใช้งานของหลาย ๆ คน โดย Google ถือฤกษ์งามยามดีหลังวันวาเลนไทน์ ประกาศเริ่มระบบการบล็อกโฆษณาที่น่ารำคาญใจให้กับผู้ใช้งาน Chrome ด้วยการฝังฟังก์ชันการคัดกรองโฆษณา
หากโฆษณาในเว็บนั้น ๆ เข้าข่ายตามที่ระบบกำหนดว่าเป็นโฆษณาน่ารำคาญ โฆษณานั้นจะถูกระงับการแสดงผลทันที นั่นยังรวมไปถึงโฆษณาบนแพลตฟอร์มของ Google เองด้วย
ประเภทโฆษณาที่ Chrome จะบล็อกจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ “มือถือหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่” และ “เดสก์ท็อป” และแน่นอนว่านโยบายการป้องกันโฆษณาที่น่ารำคาญนี้ ส่งผลกระทบต่อรายได้ที่มาจากการโฆษณาอย่างแน่นอน ซึ่ง Google มองว่า การประกาศถึงแนวนโยบายการป้องกันโฆษณารูปแบบดังกล่าวมาแล้วกว่าครึ่งปี เป็นช่วงเวลาพอสมควรที่ให้ผู้ประกอบการได้ปรับปรุงรูปแบบการโฆษณา
ประเภทโฆษณาบนเดสก์ท็อปที่จะถูกบล็อก
- โฆษณาป๊อปอัป
- โฆษณาที่เล่นวิดีโอด้วยเสียงโดยอัตโนมัติ
- โฆษณาคั่นระหว่างหน้า และต้องใช้การนับถอยหลังเพื่อยกเลิก
- โฆษณาที่ติดไปกับหน้าจอไม่ไปไหนกว่า 30% ของจอ
ประเภทของโฆษณาบนมือถือหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ที่จะถูกบล็อก
- โฆษณาป๊อปอัพ
- โฆษณาที่คั่นระหว่างหน้า
- โฆษณาที่มีความหนาแน่นมากกว่า 30% ของสัดส่วนเนื้อหาทั้งหมด
- โฆษณาที่เป็นภาพเคลื่อนไหวหรือแอนิเมชันที่กะพริบ
- โฆษณาที่เล่นวิดีโอด้วยเสียงโดยอัตโนมัติ
- โฆษณาคั่นระหว่างหน้า และต้องใช้การนับถอยหลังเพื่อยกเลิก
- โฆษณาเต็มหน้าจอแบบต้องเลื่อนดู
- โฆษณาเต็มหน้าจอแบบเลื่อนดู
- โฆษณาที่ติดไปกับหน้าจอไม่ไปไหนกว่า 30% ของจอ
คลิกดูภาพขนาดใหญ่
การที่ทั้ง 2 ค่าย ต่างสนับสนุนประสบการณ์การโฆษณาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชม นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับคนท่องโลกออนไลน์ เพราะเชื่อว่าหลาย ๆ คงเคยเจอโฆษณากวนใจประเภทแสดงเต็มหน้าจอ โฆษณาที่เป็นแฟลชกะพริบ ๆ หรือโฆษณาที่อยู่ดี ๆ ก็เสียงดังขึ้นมารบกวน
ผู้ที่จะทำการตลาดในสื่อออนไลน์โดยการโฆษณาจึงควรศึกษาข้อมูลและวิธีการสร้างสื่อโฆษณาอย่างเหมาะสม เพราะถ้าโฆษณาของคุณไม่ขัดนโยบาย คุณก็สามารถทำธุรกิจออนไลน์ไปได้อย่างสบายใจ และไม่ต้องวิตกกังวลว่า โฆษณาของคุณจะถูกบล็อก! อย่างแน่นอน
ที่มา : facebook, forbes, google, betterads