เมื่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น โอกาสทางการค้าบนออนไลน์ก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซไทย เผยตัวเลข e-Commerce จะโตขึ้นเรื่อย ๆ มากถึง 32% ต่อปี

 

สมาร์ตโฟน + อินเทอร์เน็ต = โอกาส

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thai e-Commerce Association) ได้พูดถึงแนวโน้มการเติบโตและเทรนด์อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ในงาน ETDA ก้าวสู่ปีที่ 8 "FUTURE ECONOMY & INTERNET GOVERNANCE: BIG CHANGE TO BIG CHANCE"  ไว้ว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและโอกาสต่อวงการอีคอมเมิร์ซเป็นอย่างมากก็คือการพัฒนาของ ‘สมาร์ตโฟน’

‘สมาร์ตโฟน’ เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนโลกเราในหลากหลายมิติด้วยกัน จากที่แต่ก่อนโทรศัพท์มือถือเป็นเพียงแค่เครื่องมือสื่อสารในการติดต่อพูดคุยกันเท่านั้น แต่ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือได้กลายเป็น ‘สมาร์ตโฟน’ ที่มีฟังก์ชันความสามารถที่หลากหลาย หนึ่งในฟังก์ชันสำคัญก็คือ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต นั่นเอง

ปัจจุบัน ประชากรกว่า 50% ของโลก หรือกว่า 3,600 คน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญก็คือ ‘สมาร์ตโฟน’  อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่พกพาสะดวก รวดเร็ว และมีราคาถูก เมื่อคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ก็เป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการในการขายสินค้าบนโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก เพราะสมาร์ตโฟนช่วยทั้งเรื่องการค้นหาข้อมูลสินค้า อีกทั้งยังช่วยให้การติดต่อซื้อขายสินค้าง่ายดายยิ่งขึ้น

ทุกวันนี้ผู้คนซื้อของออนไลน์มากเป็นประวัติการณ์เท่าที่โลกนี้เคยเกิดขึ้นมา

จากผลสำรวจและสถิติ ที่ ธนาวัฒน์ ได้รวบรวมและนำมาวิเคราะห์ พบว่า ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลกมีมูลค่าทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปีจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มากขึ้นของประชากรโลก เปิดโอกาสให้การค้าขายสินค้าออนไลน์เติบโตมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ประเทศจีนที่ถือเป็นเจ้าแห่งอีคอมเมิร์ซของโลกที่มีส่วนแบ่งการตลาดในส่วนของอีคอมเมิร์ซต่อมูลค่าค้าปลีกทั้งหมดมากถึง 20% ด้วยกัน ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในโลก และยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อนำมาเทียบกับอีคอมเมิร์ซของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีส่วนแบ่งต่อมูลค่าค้าปลีกเพียง 1–2% เท่านั้น นั่นหมายความว่าภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย ยังมีโอกาสที่ตลาดอีคอมเมิร์ซจะเติบโตได้อีกมากกว่าถึง 10 เท่า

“ถ้าคุณยังไม่เอา e-Commerce เข้ามาอยู่ในธุรกิจคุณ
แปลว่า คุณถอยหลังแล้วครับ”

e-Commerce ไทย กับโอกาสทางการเติบโต

สำหรับอีคอมเมิร์ซประเทศไทย ธนาวัฒน์ มองว่ายังสามารถเติบโตได้อีกในระดับสูง เพราะจากผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานใช้อินเทอร์เน็ตที่สำรวจโดย ETDA พบว่าคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยมากถึง 10.5 ชั่วโมงต่อวัน แถมมีการคาดการณ์ว่าอีก 2  ปีข้างหน้า คนไทยจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้นเป็น 84% ของประชากรทั้งหมด หรือกว่า 59 ล้านคน 

“มันคือโอกาสครับ ในแง่ของคนขาย เราสามารถขายสินค้าให้กับผู้คน
และตลาดที่ใหญ่มากขึ้น ซึ่งตลาดโตเรื่อย ๆ ถึงปีละ 30%”

 

คนไทยชอปปิงออนไลน์เยอะมาก จนถือเป็นกิจกรรมยอดฮิตลำดับที่ 5 ที่ทำมากที่สุดบนโลกออนไลน์ โดยช่องทางที่คนไทยนิยมซื้อขายสินค้ามากที่สุดก็คือ โซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม เป็นต้น) ซึ่งกินส่วนแบ่งถึง 40% ของช่องทางขายของออนไลน์ทั้งหมด

ธนาวัฒน์ ให้ความเห็นไว้ว่า “คนไทยและคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชอบมีปฏิสัมพันธ์ พูดคุยสอบถาม ซึ่งแตกต่างจากชาวยุโรป ที่ชอบอ่านและศึกษาข้อมูลของสินค้าด้วยตนเอง” จึงทำให้ช่องทาง โซเชียลมีเดีย เป็นที่ช่องทางที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ซื้อคนไทยและคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด

เหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ คนไทย ถือว่าการชอปปิงเป็นกิจกรรมบันเทิงอย่างหนึ่ง ที่ให้ความสนุกสนาน และเป็นความสุขทางใจ ทำให้เรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายจึงสำคัญมาก ซึ่งก่อให้เกิดการนำเอาฟีเจอร์ Facebook Live ที่สร้างขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ในการถ่ายทอดสดเรื่องราว เหตุการณ์ต่าง ๆ นำมาใช้ขายของออนไลน์ ที่แรกและที่เดียวในโลก

อีกช่องทางหนึ่งที่เป็นที่นิยมของคนไทย ในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ คือ มาร์เก็ตเพลส (e-Marketplace) ที่มีเปิดโอกาสให้ผู้ชายได้นำสินค้าโพสต์ขายบนแพลตฟอร์มที่ตั้งขึ้นมา พร้อมฐานลูกค้าประจำของเว็บไซต์ ซึ่งส่วนนี้ ธนาวัฒน์ ได้ฝากข้อคิดเล็กน้อยถึงผู้ขายทุกคนว่า

การขายของบนมาร์เก็ตเพลส อาจเป็นช่องทางที่ดี ที่สามารถนำสินค้าของเราเข้าสู่ตลาดที่มีผู้ซื้อจำนวนมากได้ แต่การนำสินค้าไปขายบนมาร์เก็ตเพลสก็ทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มได้ทราบข้อมูลของเรา ว่าสินค้าแบบไหนขายดีในลูกค้ากลุ่มใด ซึ่งจุดนี้เอง ที่เจ้าของแพลตฟอร์มอาจเชิญชวนคู่แข่งให้เข้ามาแข่งขันในตลาดของเราได้

สิ่งสำคัญคือผู้ขายต้องขายสินค้าในหลากหลายช่องทาง และให้ลูกค้ามีช่องทางที่สามารถติดต่อกับร้านค้าได้โดยตรง ที่ไม่ต้องผ่านแพลตฟอร์มใด ๆ เพราะทุกข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ ฐานข้อมูลที่มีเราสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจของเราได้

 

 

ขอบคุณที่มา https://www.etda.or.th

ชมคลิปย้อนหลังได้ที่ คลิก